23 ธันวาคม 2558

Creative CSR for Low Carbon Society รองรับ CSR สร้างมูลค่าเพิ่มสู่ CSV


อพท.1 ชูบทบาทศูนย์ความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในตราด รองรับ CSR สร้างมูลค่าเพิ่มสู่ CSV



องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) จัดกิจกรรม Creative CSR for Low carbon Society ริเริ่มบทบาทการเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดตราด และพัฒนาโปรแกรมหลักสูตรการศึกษาดูงานให้กับทีม CSR จากกลุ่มบริษัทเอกชนต่างๆ ที่มีความสนใจด้านการดูและทรัพยากรใต้ทะเลและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

กลุ่ม Creative CSR for Low Carbon Society ถ่ายภาพร่วมกัน


ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้พัฒนาส่งเสริมภาคีเครือข่ายมากว่า 10 ปี ในการสร้างเสริมกระบวนทัศน์การท่องเที่ยวสไตล์โลว์คาร์บอนในพื้นที่หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงให้กับภาคีเครือข่าย ดังนั้นเพื่อการปรับเข้าสู่บทบาทใหม่ขององค์กร จึงได้ริเริ่มการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งได้จัดกิจกรรม Creative CSR for Low carbon Society ในวันที่ 18 – 20 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ เกาะหมาก เกาะหวาย จังหวัดตราด ประสบความสำเร็จอย่างมาก หวังสร้างเครือข่ายบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทยให้รับรู้บทบาทใหม่ของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับชุมชนในพื้นที่หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง



กิจกรรม Creative CSR for Low carbon Society มีกระบวนการสร้างความคิดใหม่ๆ ด้านการพัฒนาพื้นที่ที่ใช้สำรวจในการศึกษาดูงานประกอบด้วยกระบวนการการสร้างเครือข่ายอย่างสร้างสรรค์ (Creative Network), กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ (Creative Activity) และการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ (Creative Solution) โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากบริษัทเอกชนต่างๆ ได้แก่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บริษัท พี.เอฟ.พี เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท ไทยสมุทรประกันภัย จำกัด (มหาชน), Green Globe, เดอะ เลกาซี่ ริเวอร์แคว์ รีสอร์ท กาญจนบุรี โดยกิจกรรมในช่วงท้ายได้มีการนำเสนอโมเดลการทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับคนในชุมชนเกาะหมาก เน้นแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้มีความยั่งยืน 

การเดินทางไปยังจังหวัดตราด

เวิร์คช้อปทำหญ้าทะเลเทียมสำหรับเป็นบ้านของพันธุ์สัตว์น้ำ ณ ชุมชนแหลมกลัด จ.ตราด

ปล่อยปูม้าไข่ ณ ชุมชนแหลมกลัด จ.ตราด

นำหญ้าทะเลเทียมลงสู่ทะเล
  
 นายธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่างประเทศและการตลาด สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า กิจกรรม Creative CSR for Low carbon Society นำเสนอโปรแกรมที่เปิดประสบการ์ณผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้เข้าถึงความต้องการของชุมชนในการพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่สำคัญคือ ชุมชนแหลมกลัด ตั้งอยู่ในตำบลแหลมกลัด อ. เมือง จ. ตราด ชุมชนประมงที่ประสบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรอาหารใต้ทะเลเนื่องจากภาวะโลกร้อน อาชีพประมงหาสัตว์ทะเลได้ยากขึ้น ดังนั้นชุมชนแหลมกลัดจึงได้จัดธนาคารปูม้าในการคืนแม่พันธุ์ปูม้ากลับสู่บ้านเกิดเพื่อต่อวงจรชีวิตของปูม้าให้เพิ่มทวีคูณขึ้น และคิดค้นนวัตกรรมหญ้าทะเลเพื่อสร้างบ้านใต้ท้องทะเลให้กับสัตว์น้ำต่างๆ ได้อาศัยอยู่เพื่อทดแทนหญ้าทะเลที่เสียหายไปเนื่องจากภาวะโลกร้อน ภายในกิจกรรม Creative CSR for Low carbon Society ได้มีการปล่อยแม่พันธ์ุปูม้าลงสู่ทะเล และปลูกหญ้าทะเลเทียมเพื่อแสดงเจตจำนงการร่วมฟื้นฟูบ้านปลาสำหรับอนุบาลสัตว์น้ำ เพื่อให้ชุมชนแหลมกลัดยังคงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญบริเวณปากอ่าวจังหวัดตราด ซึ่งหล่อเลี้ยงอาหารทะเลให้กับประเทศไทย 






ในขณะที่ เกาะหวาย ปะการัง รีสอร์ท จังหวัดตราด จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ทางทะเล ได้ริเริ่มในการทำกิจกรรมการปลูกปะการังด้วยการจัดตั้งธนาคารปะการัง (Coral Bank) เพื่อทดแทนปะการังที่ลดน้อยลงไป โดยปะการังที่ได้ปลูกในแปลงเพาะปะการัง ณ ด้านหน้าเกาะหวาย ปะการัง รีสอร์ท จะเติบโตและนำไปขยายพันธุ์ยังแหล่งทะเลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ภายในกิจกรรม Creative CSR for Low carbon Society ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีการปลูกปะการัง โดยมีวิทยากร คุณวิกรม ภูมิผล มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์โดยความอุปถัมภ์ของ บมอ. วีนิไทย ให้ความกระจ่างในเรื่องความสำคัญของการปลูกปะการังเพื่อเป็นบ้านปลาต่อไป เนื่องจากปัจจุบันนี้ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบให้ปะการังเกิดการฟอกขาวมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล 




 นายจักรพรรดิ ตะเวทีกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด และผู้บริหารเกาะหมาก รีสอร์ท กล่าวว่า ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะหมาก ต้องการให้บริษัทเอกชนในประเทศไทยได้รู้จักพื้นที่ท่องเที่ยวในหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนเกาะหมาก อันจะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าของ องค์กรและชุมชนร่วมกัน




 คุณอัญชลี จันทร์คง นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก  กล่าวว่า ทางหน่วยงานได้ทำการสำรวจทรัพยากรใต้ทะเลในพื้นที่หมู่เกาะช้างและหมู่เกาะเชื่อมโยง และพบว่า หมู่เกาะรัง และเกาะหมาก มีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์มาก ซึ่งมีทั้งป่าชายเลน (Mangrove forest) หาดทราย (Sandy beach) และหาดโขดหิน (Rocky beach) ประกอบไปด้วยแนวปะการังกว่า 8,555 ไร่, หญ้าทะเล 896 ไร่ สาหร่ายทะเล และสัตว์ทะเลจำพวกปลา 85 ชนิด กุ้ง 35 ชนิด ปู 31 ชนิด หอย 100 ชนิด ฟองน้ำทะเล 25 ชนิด เอคไคโนเดิร์ม 25 ชนิด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กิจกรรมการท่องเที่ยว จะต้องเป็นไปในแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว และพื้นที่ที่ทรัพยากรใต้ทะเลเริ่มจะสูญเสียความสมบูรณ์ เพื่อรักษาให้สภาพพื้นที่หมู่เกาะช้างและหมู่เกาะเชื่อมโยงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น