10 เมษายน 2558

บ้านน้ำเชี่ยว ตอนที่ 3 ของดี ของเด่น บ้านน้ำเชี่ยว เที่ยวได้ทั้งปี ไม่มีเบื่อ

กลับมาเป็นตอนสุดท้ายสำหรับ บ้านน้ำเชี่ยว เที่ยวครั้งเดียวไม่อิ่ม

ติดตามตอนเก่าได้ตามลิ้งค์ด้านล่าง

บ้านน้ำเชี่ยว ตอนที่ 1 ป่าชายเลนแห่งน้ำเชี่ยว

บ้านน้ำเชี่ยว ตอนที่ 2 ชุมชนน้ำเชี่ยว



สำหรับตอนที่ 3 จะเป็นตอนที่หลายๆ คนรอคอย คือ ของดี ของอร่อย ^ ^

เริ่มด้วยของเด่น

สิ่งแรกที่เป็นของขึ้นชื่อของ บ้านน้ำเชี่ยว ได้แก่ "งอบน้ำเชี่ยว"

งอบน้ำเชี่ยว

งอบน้ำเชี่ยว

งอบน้ำเชี่ยว จะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับงอบของที่อื่นๆ เรียกได้ว่า 
งอบน้ำเชี่ยวมีที่เดียว หาจากที่อื่นไม่ได้แน่นอน

งอบน้ำเชี่ยว สานจากใบจาก ซึ่งมีขั้นตอนการทำที่ซับซ้อนและยุ่งยาก
ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก อีกทั้งสมาธิต้องนิ่ง และที่สำคัญ ต้องอึด!

ในอดีต งอบของน้ำเชี่ยวมีอยู่ไม่กี่ทรง แต่ปัจจุบันมีมากมายหลายแบบ
เช่น ทรงกระทะคว่ำ ทรงกระดองเต่า ทรงกะโหลก เป็นต้น

แต่ที่โดดเด่นมากที่สุดเห็นจะเป็น "ทรงสมเด็จ" 
ซึ่งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านน้ำเชี่ยวได้ออกแบบ และประดิษฐ์ขึ้นทูลเกล้าฯ แด่ สมเด็จย่าฃ
เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดตราด เมื่อปี พ.ศ. 2524

พระองค์ได้พระราชทานนามงอบทรงนี้ว่า "ทรงสมเด็จ"

ต่อกันด้วยของอร่อย


ตังเมกรอบ

ตังเมกรอบ

ขนมตังเมกรอบ เมื่อก่อนเรียก "ขนมน้ำตตาลชัก" (แอดมินเรียก "ขนมไม้")
รูปร่างคล้ายแท่งไม้แห้ง สีน้ำตาลอ่อน รสชาติหวาน มัน กรอบ
สินค้า OTOP ขึ้นชื่อของจ.ตราด ใครได้ชิมก็ล้วนติดใจ



หอยปากเป็ด

หอยปากเป็ด

กิจกรรมเด็ดของที่บ้านน้ำเชี่ยวอีกกิจกรรมหนึ่ง ก็คือ การดำน้ำงมหอยปากเป็ด
กิจกรรมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัย โดยการลงเรือประมงของชุมชน
ซึ่ีงเป็นเรือหาปลาขนาดย่อม ที่ค่อยๆ แล่นแหวกน้ำไปในคลองน้ำเชี่ยว 
ที่สองข้างทางเป็นป่าชายเลนที่มีต้นจากขึ้นประปราย เมื่อถึงปากอ่าวก็ทิ้งสมอเรือ

เมื่อเรือจอดนิ่ง เหล่านักผจญภัยก็ได้เวลาดำน้ำ เพื่องมหอยปากเป็ด 
ซึ่งรวมกันอยู่เป็นกลุ่มในโคลน แม้จะมีอยู่มาก แต่ใช้ว่าทุกคนจะงมได้
เพราะนอกจากจะต้องดำน้ำอึดแล้ว ยังต้องรู้จุดด้วยว่าหอยอยู่ตรงไหน
สำหรับมือสมัครเล่นก็สามารถดำไปตามจุดที่ผู้ชำนาญแห่งน้ำเชี่ยวทำสัญลักษณ์ไว้ได้เลย

ลักษณะที่ได้ชื่อว่า หอยปากเป็ด คือเปลือกสีน้ำตาลของหอยมีลักษณะแบนๆ คล้ายปากเป็ด
ส่วนเมนูเด็ด ก็คือ ผัดเผ็ด ซึ่งว่ากันว่า ชาวน้ำเชี่ยวทำได้อร่อยถึงใจนัก


ปิดท้ายด้วยที่พักดีๆ

บ้านน้ำเชี่ยวมีโฮมสเตย์หลายหลังให้เลือกพัก

โฮมสเตย์

แม้จะเป็นชุมชนเล็กๆ เนื่องจากบ้านน้ำเชี่ยวมีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งวิถีชุมชนและผจญภัย
และไม่น่าเชื่อว่าจะมีกิจกรรมให้ทำได้ตลอดทั้งปี เรียกว่า ไม่มีเหงากันเลย เช่น

ม.ค. - ก.พ. มีการละเล่นว่าวอูฐให้แก่นักท่องเที่ยว และจัดสรรพื้นที่ให้เล่นว่าวด้วย
เม.ย. - ส.ค. มีกิจกรรมจับปลาไหลโดยใช้วิถีดั้งเดิม คือใช้มือเปล่าจับ
และมีการดำปลาดุกที่ดักด้วยกระบอกไม้ไผ่ กิจกรรมนี้เปิดให้ชมเท่านั้น
เพราะต้องใช้ความชำนาญพิเศษ
พ.ค. - มิ.ย. เป็นช่วงผลไม้หลายชนิดออกผล จึงเปิดให้อิ่มหนำสำราญจากสวนผลไม้
มิ.ย. - ธ.ค. เป็นช่วงเวลาพิเศษที่จะมีหิ่งห้อยจำนวนมากเปล่าแสงทั้วป่าชายเลน
ต.ค. - พ.ย. กิจกรรมช้อนปูใบไม้หรือปูแป้น นำมาดองน้ำปลาอร่อย ใส่ส้มตำก็แซ่บ
ธ.ค. ประเพณีแข่งเรือ ที่ใช้ไม้พายทำจากไม่ไผ่แห่งเดียวในประเทศไทย
โดยจะจัดแข่งกันระหว่างทีมเจ้าบ้านและทีมนักท่องเที่ยว

ส่วนกิจกรรมที่สามารถทำได้ตลอดทั้งปี ได้แก่ การงมหอยปากเป็ด ชมป่าชายเลน
ดูนกและเหยี่ยว นั่งเรือดูกาที่ปากอ่าว ดักลอบกุ้ง ปู ปลา และกรีดยาง 

ซึ่งหลาย ๆ กิจกรรมที่กล่าวมา เป็นกิจกรรมที่ทำในเวลากลางคืน เช่น ชมหิ่งห้อย 
จึงควรมาค้างคืนที่บ้านน้ำเชี่ยว ซึ่งที่บ้านน้ำเชี่ยวจะมีโฮมสเตย์หลายหลังให้บริการนักท่องเที่ยว

สอบถามข้อมูล ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลน้ำเชี่ยว
คุณสุรัตนา ภูมิมาโนช (หน่อย) โทร. 086-777-5033 หรือ 084-892-5374

ศึกษาข้อมูลการท่องเที่ยวจากชุมชนเล็กๆ อย่าง บ้านน้ำเชี่ยวแล้ว
ความสนุก ความน่ารัก หรือมุมโรแมนติกที่นี่ก็ไม่แพ้ใคร
ว่าแล้วก็อย่าลืมมาเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยวกันเยอะๆ นะคะ ชาวบ้านน้ำเชี่ยวรอต้อนรับทุกคนอยู่ค่ะ

ข้อมูลจาก คู่มือการท่องเที่ยวเล่มเล็กๆ ในหัวข้อ "เที่ยวชุมชน ค้นของดี! ไปกับ อพท."

บ้านน้ำเชี่ยว เที่ยวครั้งเดียวไม่อิ่ม

ขอขอบคุณ
travel.kapook.com
twtrland.com
www.manager.co.th

7 เมษายน 2558

บ้านน้ำเชี่ยว ตอนที่ 2 ชุมชนน้ำเชี่ยว

จากคราวที่แล้วได้เกริ่นถึงป่าชายเลนแห่งน้ำเชี่ยวมาแล้ว

บ้านน้ำเชี่ยว ตอนที่ 1 ป่าชายเลนแห่งน้ำเชี่ยว

มีใครสงสัยกันบ้างว่าพื้นที่ป่าชายเลนน้ำสลบนิ่งๆ แห่งนี้ทำไมถึงได้ชื่อว่า "น้ำเชี่ยว"

เมื่อฤดูน้ำหลาก คลองขนาดใหญ่ที่ไหลผ่านหมู่บ้านเชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทยก็เชี่ยวกราก
ด้วยน้ำคลองที่ไหลเชี่ยวนี่เอง ชุมชนนี้จึงได้ชื่อว่า บ้านน้ำเชี่ยว 

เรือประมงที่จอดเรียงรายในลำคลอง บ้านน้ำเชี่ยว

คลองน้ำเชี่ยวนั่นแหละที่นำพาชาวบ้านออกไปทำมาหากินยังท้องทะเล
อาชีพประมงจึงอยู่คู่กับชาวน้ำเชี่ยวมานานแสนนานตราบกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อไปเยือนบ้านน้ำเชี่ยว จึงปรากฏเรือประมงน้อยใหญ่จอดแน่นขนัดในลำคลอง

ชาวน้ำเชี่ยวมีทั้งคนนับถือศาสนาพุทธ และอิสลาม ปะปนกันอยู่ ไม่มีการแบ่งรั้วเขต
ยิ่งเมื่อมีงานส่วนรวม ทั้งชาวพุทธและมุสลิมต่างก็ร่วมมือกันเป็นอย่างดี 
โดยไม่เคยมีความขัดแย้งระหว่างศาสนา เมื่อถึงเวลาทำศาสนกิจ ก็แยกย้ายกันไปตามศรัทธา


วัดน้ำเชี่ยว
มัสยิดอัลกุบรอ

สถานที่สำคัญทางศาสนาแห่งบ้านน้ำเชี่ยว

วัดน้ำเชี่ยว แต่เดิมชื่อวัดอินทาราม ในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯ มาประทับแรม 1 คืน
และได้รับการจารึกลงในราชกิจจานุเบกษาด้วย ภายในวัดมีอุโบสถทรงสวยงาม
มีพระบรมสารีริกธาตุ และพระประจำวันเกิดปางต่างๆ 
วัดน้ำเชี่ยวได้รับคัดเลือกจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ประจำปี 2548

มัสยิดอัลกุบรอ สร้างโดยชาวมุสลิมที่อพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีอายุมากกว่า 200 ปี
ในอดีต มัสยิดแห่งนี้มีเพียงไม้โกงกางปักเป็นเขต 4 ต้น หลังคามุงด้วยใบปรงสานเป็นตับ
จากนั้นจึงค่อยปรับปรุงเรื่อยมาจนกลายเป็นมัสยิดงามสง่าอย่างที่เห็นในปัจจุบัน


ประเพณีแข่งขันเรือพาย บ้านน้ำเชี่ยว

ประเพณีแข่งขันเรือพายบ้านน้ำเชี่ยว

การแข่งขันเรือพายจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความสามัคคีของชาวพุทธและชาวมุสลิม
ทั้งในชุมชนน้ำเชี่ยว และชุมชนใกล้เคียง ประเพณีนี้เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมานาน
ในอดีต ใช้ถังข้าวหมกไก่แทนเรือยาว ส่วนเอกลักษณ์ในปัจจุบันนี้คือ 
การพายเรือด้วยลำไม้ไผ่แทนพาย ทีมที่พายไปหยิบธงที่ปักอยู่ที่เส้นชัยได้ก่อนถือเป็นฝ่ายชนะ

การแข่งขันเรือพาย จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายเดือนพฆศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม
ซึ่งจะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นเต็มฝั่ง ณ คลองน้ำเชี่ยว


ครั้งหน้าจะมาว่ากันถึงของดี ของเด็ด แห่งบ้านน้ำเชี่ยว จะเป็นอะไร พิเศษแค่ไหน รอติดตามนะคะ

ข้อมูลจาก คู่มือการท่องเที่ยวเล่มเล็กๆ ในหัวข้อ "เที่ยวชุมชน ค้นของดี! ไปกับ อพท."

บ้านน้ำเชี่ยว เที่ยวครั้งเดียวไม่อิ่ม


ขอขอบคุณ
www.chilldtravel.com
15number.weebly.com
www.manager.co.th
www.thaihalaltrips.com
www.painaidii.com