29 ธันวาคม 2557

มะกะธานีรีสอร์ท ประตูสู่เกาะหมาก




มะกะธานีรีสอร์ท ถือเป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ข้ามมายังเกาะหมาก

เนื่องจากเรือ Speed Boat ที่ข้ามจากฝั่งแหลมงอบมายัง เกาะหมาก
ชื่อว่า เรือเร็ว ลีลาวดี นั้น จะมาจอดส่งที่ท่าเรือของ มะกะธานีรีสอร์ท


มากะธานีรีสอร์ท จะมีที่พักในส่วนของบ้านพักติดหาด
ที่สามารถตื่นขึ้นมาเห็นชายหาดและทะเลอย่างใกล้ชิด

และในส่วนที่เป็นโรงแรม ซึ่งก็เป็น Sea View บรรยากาศดีไม่แพ้กัน



ชายหาดของ มะกะธานีรีสอร์ท นั้นมีบรรยากาศที่เงียบสงบ
เหมาะกับการมาพักผ่อน อาบแดด หรือกิจกรรมทางน้ำ แต่ที่นี่จะสงวนให้เฉพาะกิจกรรมที่คาร์บอนต่ำ
 หรือ โลว์คาร์บอน (Low Carbon) ที่ต่างประเทศรู้จักกันมานานแล้ว




แม้แต่เรือเร็ว ลีลาวดี เองก็ใช้เชื้อเพลิงเป็น E85 ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น

หากคุณกำลังสนใจที่จะหาแหล่งพักผ่อนซักที่ กับบรรยากาศส่วนตัวแสนสงบ
แถมยังได้ลดโลกร้อนแล้วล่ะก็ มะกะธานีรีสอร์ท เป็นคำตอบของคุณค่ะ

ข้อมูลเพิ่มเติม หรือจองห้องพัก  http://www.makathaneekohmak.com/
ขอขอบคุณ booking.com

26 ธันวาคม 2557

อพท. มอบป้ายเชิดชูเกียรติสถานประกอบการที่พักบนเกาะหมาก จ.ตราด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 
 
นาย ณรงค์ ธีรจันทรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานในพิธีมอบป้ายเชิดชูเกียรติสถานประกอบการ ที่พักบนเกาะหมากที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจำนวน 9 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจ ที่ทางสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.1) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กำหนดไว้ โดยมีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เป็นผู้ตรวจประเมินที่ห้องประชุมพลอยแดง ศาลากลางจังหวัดตราด

พลตรีหญิงจรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.1) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวว่า อพท. กล่าวว่า ตามที่ อพท.ได้ ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินโครงการ Low Carbon Destination มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ที่มุ่งเน้นศึกษาปริมาณการลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอน (carbon foot print label) ของแหล่งท่องเที่ยว เกาะช้าง เกาะกูด และเกาะหมาก โดยเก็บข้อมูลตัวอย่างจากสถานบริการร้านค้า โรงแรม รีสอร์ท โฮมสเตย์ ร้านอาหาร การขนส่ง พบว่าเกาะหมาก มีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ของนักท่องเที่ยวสูงกว่าเกาะอื่นๆ คือ ค่าเฉลี่ยนักท่องเที่ยว 21.12 กิโลกรัม/คน/วัน (เกาะช้างเฉลี่ย 19.74 กิโลกรัม/คน/วัน) ขณะที่ประเทศไทยเฉลี่ยนักท่องเที่ยว 11 กิโลกรัม/คน/วัน

จึงได้มีการเชิญชวนสถานประกอบการบนเกาะหมาก ให้ความรู้และพัฒนาโดยเฉพาะด้านที่พัก ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม มีส่วนให้บุคลากรของสถานประกอบการเกิดความภาคภูมิใจ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ปัญหา เป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีต่อสถานประกอบการเอง ต่อนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดค่าบริหารจัดการต่าง ๆ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และการใช้ทรัพยากรอื่น ๆ

สำหรับการประเมินในเรื่องนี้ได้มีมาตรฐานใน การประเมิน 9 ด้าน ประกอบด้วย ด้านนโยบายและการจัดการ ด้านการจัดการพลังงาน ด้านการขนส่ง ด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวและการมีส่วนร่วม อาคารพื้นที่โดยรอบ ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดการของเสีย การจัดการน้ำ และการวัดค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในสถานประกอบการ ปรากฎว่ามีสถานประกอบการที่พักบนเกาะหมาก ผ่านเกณฑ์ประเมิน 9 แห่ง ประกอบด้วย เกาะหมากรีสอร์ท มากะธานีรีสอร์ท พลับพลา รีสอร์ท เลซี่เดย์ รีสอร์ท เดอะซินาม่อน อาร์ต รีสอร์ทแอนด์สปา โคโคเคป รีสอร์ท อ่าวขาว รีสอร์ท กูดไทม์ รีสอร์ท และซีวานา รีสอร์ท จึงได้จัดให้มีการมอบป้ายเชิดชูเกียรติสถานประกอบการในครั้งนี้ขึ้น


 
ข้อมูลข่าวและที่มา
จำนวนผู้เข้าชม : 112
ผู้สื่อข่าว : ปิยวิทย์ ทรัพย์ขจร
Rewriter : มณีรัตน์ ชาญชัยศิลป์
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th


"โลว์คาร์บอน" กับเกาะหมากซีฟู๊ด


เกาะหมากซีฟู๊ด ร้านอาหารทะเลอันดับหนึ่งบนเกาะหมาก

อาหารทะเลของที่เกาะหมากซีฟู๊ดส่วนใหญ่จะรับซื้อจากเรือประมงพื้นที่
เพื่อลดการขนส่งจากทางฝั่ง ที่จะทำให้เกิดมลภาวะ แถมยังได้สนับสนุนรายได้คนในท้องที่ด้วย



นอกจากนี้ เกาะหมากซีฟู๊ด ยังไม่ใช่แค่เพียงร้านอาหารทะเลธรรมดา
ที่นี่ยังมีพิพิธภัณฑ์เกาะหมาก เนื่องจากเกาะหมากเองนั้นก็มีประวัติเรื่องราวอันยาวนาน
ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ฟรี

 

ร้านนี้ไม่ได้มีเพียงอาหารทะเลที่สด อร่อยเท่านั้น
หากแต่คุณธานินทร์ สุทธิธนกูล หรือคุณเอก เจ้าของร้านยังริเริ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
หลังจากที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
เข้ามาแนะนำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และยังคงความเป็นเกาะหมากเอาไว้
ซึ่งจะไม่ได้เน้นความเป็นแหล่งท่องเที่ยว บันเทิง ทำลายสิ่งแวดล้อม


การตกแต่งร้านก็ยังนำวัสดุเหลือใช้มาตกแต่งอีกด้วย


เรียกได้ว่า คุณเอก เป็นผู้นำคำว่า โลว์คาร์บอน (Low Carbon) บนเกาะหมากจริงๆ




ภาพประกอบบางส่วนจาก wongnai.com และ FB: Koh Mak Tourism Club

21 ธันวาคม 2557

Counting to 10,000 trees “นับหนึ่ง…สู่หมื่นต้น” แคมเปญดีๆ ที่จะช่วยกันสร้างเกาะหมากให้กลายเป็นเกาะสีเขียว


Counting to 10,000 trees “นับหนึ่ง…สู่หมื่นต้น” 
แคมเปญดีๆ ที่จะช่วยกันสร้างเกาะหมากให้กลายเป็นเกาะสีเขียว

การเข้าพักที่โรงแรม หรือรีสอร์ทจะไม่เป็นการพักผ่อนธรรมดาอีกต่อไป
ในเมื่อนักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สีเขียวให้เกาะหมาก

โดยแคมเปญนี้ จะสำรวจว่าคุณเป็นคนรักษ์โลก ช่วยลดโลกร้อนได้แค่ไหน
เช่น เปิดเครื่องปรับอากาศ 25 องศา, ปิดสวิตช์ไฟทุกครั้งที่ไม่ใช้
หรือรับประทานอาหารท้องถิ่นเพื่อลดคาร์บอนจากการขนส่ง เป็นต้น

ทำกิจกรรมลดโลกร้อนเหล่านี้แล้ว ยังได้ช่วยโลกต่อที่ 2 อีก
เมื่อคุณตอบว่าคุณทำตามรายการต่างๆ ครบจำนวนข้อ 
ก็จะได้รับกล้าไม้ไปปลูก เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับโลก

ว่าแล้วก็ไปลุยกันเลยมั้ย?

19 ธันวาคม 2557

ซึมซับธรรมชาติกับบรรยากาศชิลล์ๆ ที่ Kohmak Cinnamon Art Resort And Spa

Kohmak Cinnamon Art Resort And Spa

โรงแรมบูติค เรียบง่าย สวย มีเสน่ห์ อีกแห่งหนึ่งบน เกาะหมาก จังหวัดตราด

บ้านพักทุกหลังตกแต่งด้วยวัสดุจากธรรมชาติ ชมความงามของอ่าวตั๋นเกาะหมาก ที่ไม่เหมือนแห่งใดในโลก และบริการสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในเกาะหมาก

 

สอบถามข้อมูล ติดต่อจองห้องพัก
www.kohmakcinnamonresort.com
www.facebook.com/KohmakCinnamonArtResort


17 ธันวาคม 2557

"เกาะหมาก" ปลายทางการท่องเที่ยวแบบใหม่ ชิลล์แบบรักษ์โลก



"เกาะหมาก" ซึ่งก่อนหน้านี้เราแทบจะไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำว่ามันอยู่ส่วนไหนของโลก 5555
แต่ตอนนี้รู้ละว่า เกาะหมาก เนี่ยเป็นเกาะรูปดาวเล็กๆ อยู่ระหว่างเกาะฮอตเกาะฮิต อย่างเกาะช้าง กับเกาะกูด


เครดิตภาพจาก www.atsiam.com

แอบถามก่อนหน่อยนึง ว่าคนที่เคยไปเที่ยว 2 เกาะนี้ ใครได้เคยแวะเที่ยวเกาะธรรมดาๆ จืดๆ อย่างเกาะหมากกันบ้างคะ
ที่ว่าธรรมดาๆ จืดๆ นี่คือร่ะ? ก็เกาะหมากเนี่ย..

- เค้าไม่มีร้านสะดวกซื้อ มีแต่ร้านที่เป็นของชาวบ้านในชุมชนทั้งนั้น
- ไม่มีบานาน่าโบ้ท, เจทสกี, สกู้ตเตอร์ แต่เค้ามีดำน้ำดูปะการัง แล่นเรือใบ ขี่จักรยาน
- ไม่มีผับ สถานบันเทิงเหมือนเกาะอื่นๆ

เกาะหมากไม่มีอะไรอีกเยอะ ดุได้จากคลิปนี้



เหตุผลที่เกาะหมากไม่มีอะไรเหล่านี้ ก็เพราะ 


         คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) ได้ประกาศเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (พพ.1) โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 24 กันยายน 2547 และ อพท. ได้จัดการประชุมแนะนำพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในวาระการประกาศเขตพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง เมื่อ 28 กันยายน 2547 ณ ศาลาประชาคม จังหวัดตราด โดยเชิญทุกภาคีการพัฒนาพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง จำนวน 350 คน ร่วมประชุม เพื่อเสริมสร้างพันธมิตรในการประสานความร่วมมือการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างฯ

         ในการนี้ อพท. ได้จัดแบ่งกลุ่มภาคีการพัฒนาพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างฯ เป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบริษัทนำเที่ยว โรงแรมรีสอร์ท ภัตตาคารร้านอาหาร คมนาคมขนส่ง อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานส่วนกลางส่วนภูมิภาค และประชาคมชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนกำหนดกระบวนการการมีส่วนร่วมของสมาชิกกลุ่ม และการประสานงานระหว่างกลุ่ม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่พิเศษอย่างต่อเนื่องต่อไป

         พื้นที่หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ได้รับการประกาศเขตเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 105 ง ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2547 โดยอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยแบ่งเป็นพื้นที่ 4 ส่วน ได้แก่ พื้นที่หมู่เกาะช้าง หมู่เกาะหมาก หมู่เกาะกูด และพื้นที่เชื่อมโยงชายฝั่งทะเล มีพื้นที่รวม 4,280 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,675,000 ไร่



การไปเที่ยว เกาะหมาก จึงไม่เหมือนการไปเที่ยวพัทยา ภูเก็ต เกาะพงัน ที่นักท่องเที่ยวมุ่งหน้าไปบันเทิงอย่างเดียว
แต่เกาะหมาก จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คุณจะได้พักผ่อนเต็มที่ ได้ดูดดื่มกับบรรยากาศของธรรมชาติอย่างเต็มที่
และยิ่งถ้าใครที่สนใจเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย นี่แหละ ที่ๆ เหมาะกับคุณเลย!!

จากที่เล่าไปข้างบนว่า เกาะหมาก ไม่มีกิจกรรมต่างๆ อย่างบานาน่าโบ้ท, เจทสกี, สกู้ตเตอร์
ก็เพราะว่า เกาะหมาก ไม่ต้องการสร้างมลพิษให้กับโลก ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ เกาะหมาก เป็น Low Carbon Destination
แต่ละกิจกรรมข้างต้นนั้น มีแต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา คิดดูดิ การจะไปเที่ยวทั้งที แต่เราไปทำลายโลกนะเออ

คนที่รู้เรื่อง และสนใจพวก ปรากฏการณ์เรือนกระจก หรือภาวะโลกร้อนเนี่ย ก็จะเข้าใจนะว่า คาร์บอนไดออกไซด์ มันทำลายโลกยังไง
แต่บางคนอาจจะหลงลืมไป และไม่ได้มองว่าการไปท่องเที่ยวของตัวเองน่ะ ก็เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้ โลกร้อน

นอกจากนี้ สิ่งที่ เกาะหมาก ไม่เหมือนที่อื่นก็คือ การนำ Solar Cell มาใช้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง เด็ดปะล่ะ






หากคุณกำลังต้องการหาที่เที่ยว จะดีกว่ามั้ยถ้าได้เที่ยวแบบที่ไม่ไปสร้างภาระให้โลก
เพิ่ม "เกาะหมาก" เป็นอีกตัวเลือกนะคะ จะไปคนเดียว ไปกับแฟน ไปกับครอบครัว หรือไปกับกลุ่มเพื่อน
ได้บรรยากาศชิลล์ๆ ธรรมชาติจริงๆ ไม่ต้องกลัวเบื่อเพราะยังมีกิจกรรมก็ยังมีนะ เรือแคนนู/คายัค เรือใบ ขี่จักรยาน ให้ทำร่วมกัน

เอารูปมาล่อหน่อย นี่รูปจริงบนเกาะหมาก







อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือกิจกรรมดีๆ ลองค้นหา เช็คอินเกาะหมาก มารักษ์โลกด้วยกันค่ะ

16 ธันวาคม 2557

มติชน เทคโนโลยีชาวบ้าน : "เกาะหมาก...โลว์คาร์บอน" Koh Mak Low Carbon





หามาให้รู้ กาญจนา จินตกานนท์

"เกาะหมาก...โลว์คาร์บอน" ชูโมเดลต้นแบบ สู่แบรนด์อิมเมจสังคมรักธรรมชาติ
"เกาะหมาก" แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดตราด อยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด มีพื้นที่ขนาด 9,000 ไร่เศษ อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 38 กิโลเมตร

ไม่น่าเชื่อว่า เกาะหมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวมากว่า 10 ปีที่แล้ว แต่อยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เพราะยุคนั้นต้องนั่งเรือนานถึง 3 ชั่วโมง

เกาะหมาก สวยงามเต็มไปด้วยธรรมชาติ สภาพพื้นที่เกาะเต็มไปด้วยสวนมะพร้าวเกือบทั้งเกาะ ระยะทางเดินเท้าหรือเส้นทางจักรยาน 20 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวนิยมเดินเที่ยวหรือขี่จักรยานเที่ยวรอบๆ เกาะ

เกาะหมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เงียบสงบ หลายคนอยากจะไปครั้งหนึ่งในชีวิต

การ เดินทางวันนี้สะดวกมาก ด้วยเรือสปีดโบ๊ต ใช้เวลาเพียง 40 นาที ทว่าต้องตั้งใจไปหน่อย ที่พักจองตั้งแต่ต้นปี เพราะมีช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว 6 เดือนจริงๆ คือเดือนตุลาคมถึงมีนาคม

ห้องพักบนเกาะมีเพียง 600-700 คน/วัน รับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 1,000 คน/วัน มีรายได้ปีละ 60,000-70,000 คน

วันนี้เกาะหมากประกาศเป็น "เกาะโลว์คาร์บอน" อย่างเต็มภาคภูมิ สร้างอัตลักษณ์เติมเสน่ห์ให้เกาะหมาก

...ท้าทายให้นักท่องเที่ยวได้มาเยือนมากยิ่งขึ้น



เปิดโลกพลังงานทางเลือก...

ทำโลว์คาร์บอนแล้วได้อะไร


องค์การ บริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ.1) และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก ชมรมท่องเที่ยวเกาะหมากร่วมกันผนึกกำลังจัดงาน นิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ "เปิดโลกพลังงานทางเลือก" และเวทีเสวนา หัวข้อ "ทำ Low Carbon แล้ว ได้อะไร? และเกาะหมากจะเป็น Low Carbon ได้ในปีไหน?..." เมื่อ วันที่ 11-13 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด

ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากแนวคิดสู่ความเข้าใจ การรับรู้ของชุมชนท้องถิ่นบนเกาะหมากว่า ทำไม ต้อง Low Carbon? เมื่อปีที่แล้ว

งาน นี้ได้ยลโฉมตอบคำถามว่า ทำโลว์คาร์บอนแล้วได้อะไรเต็มไปหมด เริ่มจากชุดนิทรรศการการใช้พลังงานโซล่าเซลล์ในรูปของพลังงานไฟฟ้าต่างๆ ทั้งต่อตรงเป็นไฟทางใช้ได้เลย และเก็บอัดไว้ในแบตเตอรี่ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ แอร์ พัดลม ในโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ตลอดจนบ้านเรือน

พลังงานลม การคัดแยกขยะทำให้ขยะเป็นเงิน และขยะบนเกาะหมากเป็นศูนย์ การนำขยะมาใช้ประโยชน์ใหม่ กิจกรรมนักท่องเที่ยวที่ไม่สิ้นเปลืองน้ำมันด้วยเรือใบ จักรยาน

การ เรียนรู้ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตชาวบ้าน ผ่านชิ้นงานต่างๆ ที่เรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ เช่น ผ้าหมักโคลน เมนูอาหารท้องถิ่น แกงส้มปลาเห็ดโคน ยำหอยนมสาว แกงบุก แกงคูน อาหารแสนอร่อยของเกาะหมาก

แถม ท้ายด้วยนิทรรศการแผนที่พื้นที่เกาะหมาก แหล่งท่องเที่ยวจากภาพดาวเทียมไทยโชต อัพเดทสุดๆ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือกิสต์ดา (Gistda)

"ตอนนี้บนเกาะมากกว่า 50% มีความเข้าใจเรื่องโลว์คาร์บอน และมีการนำไปใช้ มีกลุ่มโซล่าเซลล์เกาะหมากช่วยให้ความรู้และสอนให้ทำ มีความร่วมมือจากบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นมากๆ ทั้งภาคเอกชน โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก กลุ่มโซล่าเซลล์เกาะหมาก สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราดและหน่วยงานของรัฐ อย่าง อบต. เกาะหมาก โรงเรียนบ้านเกาะหมาก ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน รวมทั้งกระแสตอบรับจากนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมกิจกรรมแรลลี่จักรยานเพิ่ม จากปีที่แล้ว 30 คัน มาปีนี้มากถึง 150 คัน" คุณธานินทร์ สุทธิธนกุล สมาชิกชมรมท่องเที่ยวเกาะหมากกล่าว



ชูโมเดลต้นแบบ

"เกาะหมากโลว์คาร์บอน" ปี 2556


ใน เวทีเสวนาเพื่อตอบคำถาม "ทำ Low Carbon" แล้วจะได้อะไร? และเกาะหมากจะเป็น Low Carbon ในปีไหน พล.ต.หญิง จรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการ สพพ.1 กล่าวว่า 2 ปีเต็ม ที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ. 1) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ร่วมกันพัฒนาเกาะหมากเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"ด้วย ข้อมูลของเกาะหมากมีค่าคาร์บอนฟรุตปริ้นต์สูงกว่าเกาะอื่นๆ เฉลี่ย 21.12 กิโลกรัมคาร์บอน/คน/วัน (เนื่องจากการเดินทางโดยเรือเร็ว) ในขณะที่เกาะช้าง 19.74 กิโลกรัมคาร์บอน/คน/วัน และประเทศไทย เฉลี่ย 11 กิโลกรัมคาร์บอน/คน/วัน ปี 2555 สพพ.1 เริ่มต้นด้วยการแสวงหาความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ชาวบ้าน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งสร้างความเข้าใจ การรับรู้แนวทางการเป็นพื้นที่โลว์คาร์บอน"

ทั้งนี้ ในการสร้างความเข้าใจ การรับรู้แนวทางการเป็นพื้นที่โลว์คาร์บอนได้เน้นใน 4 ประเด็น คือ 1. ด้านการใช้พลังงานอย่างประหยัด ใช้พลังงานทางเลือกโซล่าเซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง 2. ด้านการใช้น้ำอย่างประหยัดและนำกลับมาใช้ใหม่ 3. การคัดแยกขยะจากขยะ วันละ 200-300 ตัน เราคัดแยกขยะทำให้ขยะบนเกาะเป็นศูนย์ 4. การรักษาวิถีชีวิตชุมชน เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ทางด้าน คุณธานินทร์ สุทธิธนกุล สมาชิกชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก และ ผู้จัดการเกาะหมากซีฟู้ดกล่าวเพิ่มเติมว่า ร้านอาหารและพิพิธภัณฑ์เกาะหมากได้นำพลังงานโซล่าเซลล์มาใช้แบบ 100% เมนูอาหารท้องถิ่นไปได้ดี นักท่องเที่ยวยอมรับที่จะรับประทานปลา ไม่ต้องระบุชนิดหรือคัดเลือกขนาดอีกต่อไป ใช้ผักที่ปลูกเองหรือผักพื้นบ้าน ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายปลาและลดต้นทุนจากการใช้พลังงานโซล่า เซลล์ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปด้วยกัน

คุณ สุรินทร์ สุวรรณศิลป์ "โจ" และ คุณเพชร จันทรังษี "ชัย" แกนนำกลุ่มโซล่าเซลล์เกาะหมาก ได้นำพลังงานไฟฟ้าโซล่าเซลล์มาใช้ในสถานประกอบการและขยายผลสู่ชาวบ้าน จนชุมชนเห็นพ้องต้องกันว่า เกาะหมาก เหมาะสมที่สุดในการนำพลังงานโซล่าเซลล์มาใช้ทั้งในโรงแรม ร้านอาหาร ชุมชน ชาวประมงเห็นชัดๆ คือประหยัดค่าไฟฟ้าจำนวนมาก รีสอร์ทเฉพาะแค่ไฟทางบนสะพานนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญมากต้องเปิดตลอดคืน การเปลี่ยนมาใช้หลอด LED (แอลอีดี) คุ้มแล้วกับการประหยัดค่าใช้จ่าย เดือนละ 2,000 บาทเศษ

แต่ที่สำคัญ ประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมัน เพราะเงินไม่สามารถซื้อพลังงานฟอสซิลได้

"รีสอร์ท โคโค่เคป ลงทุน 20,000 บาท ในช่วง 2 ปี คุ้มทุนแล้วกับการเปลี่ยนมาใช้หลอด LED (แอลอีดี) 50 หลอด ชัดเจนการใช้โซล่าเซลล์เป็นไฟวอล์เวย์ฟรี กับเรือเร็วที่ต้องสตาร์ตอุ่นเครื่องทุกวัน 20 นาที กับน้ำมันเบนซิน กับกลุ่มโซล่าเซลล์ขยายผลให้เรือประมงใช้แผงโซล่าเซลล์เก็บไฟฟ้าในแบตเตอรี่ ขนาด 200 แอมป์ 2 ตัว ใช้ในเวลากลางคืน หรือใช้ต่อกับอินวอยเตอร์แปลงเป็นไฟ 220 โวลต์ ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าในเรือได้ด้วย"

"ส่วนการคัดแยกขยะ ขยะของรีสอร์ทส่วนที่ขายได้เป็นเงิน บางอย่างนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เราไม่มีขยะ โซล่าเซลล์แค่คิดเริ่มนำมาใช้งานก็คุ้มแล้ว และคุ้มจริงๆ" คุณชัย หัวหน้ากิจกรรมทางน้ำ รีสอร์ทโคโค่เคป เกาะหมาก กล่าวด้วยความภูมิใจในประสบการณ์

พล.ต.หญิง จรัสพิมพ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาครบ 2 ปีเต็ม เราสามารถตอบโจทย์ ทำไมต้องเป็นโลว์คาร์บอน ค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้น เป็นโลว์คาร์บอนแล้วได้ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง และที่สำคัญ สรุป ณ วันนี้ เกาะหมากเป็นโลว์คาร์บอนได้แล้วอย่างจับต้องได้ ตั้งแต่ ปี 2556

"จากความร่วมมือของคนในพื้นที่มีสูงมากเป็นสิ่ง สำคัญที่สุด ที่ทำให้ยั่งยืน มีผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ทที่ทำปฏิญญาร่วมกัน 18 แห่ง จาก 48 แห่ง การใช้โซล่าเซลล์ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนด้วยได้ 8,167.53 กิโลกรัมคาร์บอน มีกลุ่มโซล่าเซลล์เกาะหมาก 5-6 คน ช่วยขยายผลให้ชาวบ้าน ชาวประมง ได้เรียนรู้ มีการนำไปใช้ การคัดแยกขยะทำให้บนเกาะแทบไม่มีขยะจากการส่งขายแล้ว ศูนย์เอ็นเนอร์ยี่ปาร์ค (Energy Park) กำจัดขยะพลาสติกเป็นพลังงานน้ำมัน ใช้ขยะวันละ 3,000 ตัน"

"ผู้ประกอบการใช้เมนูท้องถิ่นประกอบอาหาร บริการนักท่องเที่ยว ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น กิจกรรมขี่จักรยานท่องเที่ยวรอบเกาะ กระแสของการลดโลกร้อน และเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมมาก รีสอร์ทต่างๆ เคยมีจักรยาน 40-50 คัน เพิ่มขึ้น 200-300 คัน นักท่องเที่ยวเองรับรู้ให้ความร่วมมือ การท่องเที่ยวพักผ่อนแบบโลว์คาร์บอนบนเกาะหมากด้วยคู่มือดูแอนด์ดอนท์ รวมทั้งร่วมกิจกรรมเก็บขยะชายหาด ทำเป็นปกติ เดือนละ 2 ครั้ง" ผู้จัดการ สพพ.1 กล่าว



หวั่นกระแสการลงทุน...ทำลาย

การท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนเกาะหมาก


ทาง ด้าน คุณจักรพรรดิ ตะเวทิกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ คุณสิทธิศักดิ์ วงษ์ศิริ นายก อบต. เกาะหมาก กล่าวว่า เกาะหมาก ยึดแนวทางการท่องเที่ยวธรรมชาติ เงียบสงบ ที่ผ่านมามีสัญญาประชาคมที่ไม่อนุญาตให้มีเครื่องเล่นทางน้ำที่มีเสียงดังบน เกาะ เช่น สกู๊ตเตอร์ บานาน่าโบ๊ต ต่อไปข้อบัญญัติของท้องถิ่น หรือสัญญาประชาคมน่ากำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในความเป็นเกาะโลว์คาร์บอน จำกัดปริมาณการนำรถจักรยานยนต์ รถยนต์ มาใช้บนเกาะ โดยการจัดเก็บภาษีหรือเพิ่มค่าขนส่งทางเรือ ในขณะเดียวกันจะส่งเสริมการใช้จักรยานบนเกาะให้มากที่สุด

"2 ปี ที่ผ่านมา อัตรารถจักรยานยนต์เพิ่มสูงอย่างน่าตกใจ 200-500 คัน รถยนต์ 30-40 คัน จำเป็นต้องหาทางควบคุม เพราะถนนกว้างเพียง 6 เมตร เป็นไหล่ทาง ข้างละ 1 เมตร ใช้เส้นทางเดียวกันหมดทั้งทางเดิน ที่สำคัญในปี 2558 ไฟฟ้าของส่วนภูมิภาคจะเข้ามาถึงเกาะหมาก จะทำให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น ถึงตอนนั้นนายทุนจากท้องถิ่นอื่นๆ จะแห่เข้ามาลงทุนกันมากขึ้น ต้องเร่งหาทางป้องกันการทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม" คุณสิทธิศักดิ์ กล่าว

ด้าน คุณเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวในตอนท้ายว่า นโยบายของจังหวัดตราดประกาศเป็น "Green City" แล้ว อพท. ช่วยทำให้เกิดรูปธรรมชัดเจน การก้าวสู่สังคมโลว์คาร์บอนจึงเป็นการสอดรับกับนโยบายของจังหวัดตราดได้ดี ภาคเอกชนก้าวเร็วกว่าภาครัฐ แม้ว่าจังหวัดมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4 ปี (2558-2561) โครงการชัดเจน ปี 2557-2558 โมเดลของเกาะหมาก และยังมีที่อื่นๆ อีก 4-5 แห่ง ในจังหวัดตราด ที่ สพพ. 1 เข้าไปสนับสนุนเป็นแหล่งเรียนรู้ น่าจะนำไปขยายในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดตราด และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยได้ดี เพราะไม่ใช่ความหมายโลว์คาร์บอนด้านการท่องเที่ยวอย่างเดียว และเห็นด้วยที่ท้องถิ่นต้องหาเกราะป้องกันตัวเอง หากมีไฟฟ้าเข้ามา กระแสการลงทุนบนเกาะหมากจะมากขึ้น


แบรนด์อิมเมจ "เกาะหมากโลว์คาร์บอน"...สู่สากล

เตรียมเปิดตัว งาน ITB เยอรมนี ต้นปี 2557


ขณะ ที่ พล.ต.หญิง จรัสพิมพ์ กล่าวอีกว่า ปี 2556 เกาะหมาก เป็นโลว์คาร์บอน ก้าวต่อไปจะสร้างแบรนด์อิมเมจด้านการท่องเที่ยวให้กับเกาะหมากโลว์คาร์ บอนอย่างชัดเจน ให้สังคมไทย-ต่างประเทศได้รับรู้ มีไกด์บุ๊กภาคภาษาไทย-อังกฤษ ให้กับนักท่องเที่ยวระดับโลก งาน ITB ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในเดือนมีนาคม ปี 2557

...เกาะหมาก โลว์คาร์บอนโมเดล คือต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน...เป็นหนึ่งในแบรนด์อิมเม จที่ภาคภูมิใจของท้องถิ่นและสังคมโลกที่น่าชื่นชม...



หมายเหตุ "โลว์คาร์บอน" คือการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน สู่ชั้นบรรยากาศของโลก อันเป็นผลต่อสภาวะโลกร้อน ภาวะเรือนกระจก ภาวะการแปรปรวนของธรรมชาติ อันเป็นที่มาของ ทำไม ต้องโลว์คาร์บอน


ที่มา: มติชน คอลัมน์เทคโนโลยีชาวบ้าน 

11 ธันวาคม 2557

Eat it fresh!!! อาหารทะเลสดๆ

Eat it fresh!!! แคมเปญสุดเก๋ที่ชวนนักท่องเที่ยวบน เกาะหมาก จ. ตราด ชิมอาหารที่สะอาด สด ใหม่ หาได้บนเกาะหมาก ที่สำคัญปลอดสารพิษ เอาใจคนรักสุขภาพแบบสุดๆ





ที่มาของแคมเปญนี้ เพราะอยากชวนให้หันมาบริโภคอาหารในท้องถิ่นที่ลดการขนส่งอาหารซึ่งเป็นตัวการ สำคัญในการใช้น้ำมัน ชาวบ้านบนเกาะหมากพร้อมใจกัน ปลูกผักท้องถิ่น ผลไม้ตามฤดูกาล พร้อมคิดเมนูอาหารใหม่ๆ ที่ใช้วัตถุดิบได้ในท้องถิ่น ให้นักท่องเที่ยวได้มาลิ้มลองอาหารจานเด็ดกันที่เกาะหมากในวันหยุดนี้จ้า….

เครดิตรูปภาพ: ห้องอาหารบีชคาเฟ่
www.ilovekohmak.com

9 ธันวาคม 2557

ประกาศผลกิจกรรมประกวดภาพถ่าย Low Carbon Tourism

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท
ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
มอบรางวัลกิจกรรม Photo Contest 2014 # Low Carbon tourism 3 รางวัล ได้แก่

1) รางวัลภาพ “ความสวยงาม สมบูรณ์ของธรรมชาติบนเกาะหมาก”
ได้แก่ คุณภูวไนย พลไชย
สนับสนุนรางวัลโดย เกาะหมากรีสอร์ท



2) รางวัลภาพ “ความทรงจำแสนพิเศษบนเกาะหมาก”
ได้แก่ คุณรัตติธรรม เต็มเปี่ยม
สนับสนุนรางวัลโดย Koh Mak Cinnamon Art Resort




3) รางวัล “กิจกรรมการท่องเที่ยวสนุกมีสไตล์แบบ low carbon”
ได้แก่ คุณรัตติธรรม เต็มเปี่ยม
สนับสนุนรางวัลโดย Coco cape resort 





ภาพบรรยากาศการมอบรางวัล


8 ธันวาคม 2557

เที่ยวชิลล์ ๆ กับ 5 “มุมมอง” โลว์ คาร์บอน

อยากเที่ยวชิลล์ ๆ ในวันหยุด คิดสักนิดก่อนวางแผนเที่ยวจะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนนน!!!


ทำไม ต้องการมีการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน?? (Sustainable Tourism) เพราะว่าการท่องเที่ยวเป็นสาเหตุสำคัญที่มีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง หากเราจะท่องเที่ยวแบบสนุก ๆ ที่แบ่งเบาการใช้พลังงานให้น้อยที่สุด แบบ โลว์คาร์บอน (Low Carbon) ลองย้อนกลับมาใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย แต่สนุกสุด ๆ & ได้ประสบการณ์

1.    กินอาหารในท้องถิ่น..สด ใหม่ ปลอดสารพิษ ที่ลดการขนส่งจากภายนอก ช่วยประหยัดพลังงานน้ำมันที่ใช้การขนส่งอาหาร

2.    กิจกรรมออกกำลังกายที่ลดการใช้พลังงานน้ำมัน มาปั่นจักรยาน แล่นเรือใบ พายเรือคายัค

3.    เลือกเดินทางบนเกาะด้วยรถขนส่งท้องถิ่น เพราะการนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปบนเกาะจะสร้างมลพิษให้กับพื้นที่ หรือ เลือกที่จะเดินสูดโอโซน ปั่นจักรยานเที่ยวรอบเกาะ

4.    เรียนรู้การอยู่พักอาศัยแบบชิว ๆ ไม่เน้นความสะดวกสบายระดับโรงแรม 5 ดาว เพราะการอยู่กับธรรมชาติ สูดโอโซน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ จะลดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างสิ้นเปลือง

5.    เลือกแหล่งท่องเที่ยวที่รณรงค์การผลิตไฟฟ้าแบบทางเลือก อาทิ เกาะหมาก จ. ตราด ได้ก่อตั้งชมรม “คนรักโซล่าร์เซลล์” สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองร้อยละ 28.6 ที่ใช้บนเกาะหมาก

 


ต้นแบบการใช้ Solar Cell ในการผลิตกระแสไฟฟ้า


คิดสักนิดก่อนวางแผนเที่ยวในวันหยุดเดือนธันวาคมนี้ สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่สนุก ๆ มันส์ ฮา และเปี่ยมไปด้วยความรักโลก

4 ธันวาคม 2557

ในหลวงกับพระอัจฉริยภาพทางด้านกีฬาเรือใบ



หากจะกล่าวถึงพระอัจฉริภาพทางด้านกีฬาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กีฬาอันดับต้นที่พวกเราจะมโนภาพก็จะเป็นกีฬา เรือใบ ซึ่งเป็นกีฬาที่พระองค์ทรงโปรด และเคยได้ทรงต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง โดยเรือใบพระที่นั่งดังกล่าวมีนามว่า "มด" ซึ่งต่อมาได้ทรงพัฒนาแบบขึ้นมาใหม่เป็น "ซุปเปอร์มด" และ "ไมโครมด"


นอกจากพระอัจฉริยภาพทางด้านช่างที่พระองค์ได้ทำการต่อ เรือใบ พระที่นั่งด้วยพระองค์เองแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังได้ทรงเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ (พระอิสสริยยศในขณะนั้น) ของการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ปีพ.ศ. 2510 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับการทูลเกล้า ถวายเหรียญทองจากการแข่งขัน เรือใบ ครั้งนั้น พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก และพระองค์เดียวในเอเชีย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบในระดับนานาชาติ 


ภายหลังคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปีเป็น วันกีฬาแห่งชาติ จะเห็นได้ว่าทรงมีความสนพระทัยในด้านกีฬาอย่างจริงจัง ตามพระราชดำรัสที่ว่า

“..การ กีฬา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตบ้านเมือง..”
“การชนะการแข่งขัน ความจริงคือ การชนะตนเองนั่นแหละ”

จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประชาชนคนไทยจะเห็นถึงความสำคัญของกีฬาที่นอกจากจะเป็นสิ่งเสริมสร้างสมรรถภาพของร่างกาย ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ยังมุ่งเน้นไปที่ความ “มีน้ำใจนักกีฬา” และ “ความสามัคคี” อีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง : 
มติชน
หนังสือ คงธรรม ครองไทย จากสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี
http://www.positioningmag.com/
http://www.manager.co.th/
http://th.wikipedia.org/