16 ธันวาคม 2557

มติชน เทคโนโลยีชาวบ้าน : "เกาะหมาก...โลว์คาร์บอน" Koh Mak Low Carbon





หามาให้รู้ กาญจนา จินตกานนท์

"เกาะหมาก...โลว์คาร์บอน" ชูโมเดลต้นแบบ สู่แบรนด์อิมเมจสังคมรักธรรมชาติ
"เกาะหมาก" แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดตราด อยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด มีพื้นที่ขนาด 9,000 ไร่เศษ อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 38 กิโลเมตร

ไม่น่าเชื่อว่า เกาะหมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวมากว่า 10 ปีที่แล้ว แต่อยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เพราะยุคนั้นต้องนั่งเรือนานถึง 3 ชั่วโมง

เกาะหมาก สวยงามเต็มไปด้วยธรรมชาติ สภาพพื้นที่เกาะเต็มไปด้วยสวนมะพร้าวเกือบทั้งเกาะ ระยะทางเดินเท้าหรือเส้นทางจักรยาน 20 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวนิยมเดินเที่ยวหรือขี่จักรยานเที่ยวรอบๆ เกาะ

เกาะหมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เงียบสงบ หลายคนอยากจะไปครั้งหนึ่งในชีวิต

การ เดินทางวันนี้สะดวกมาก ด้วยเรือสปีดโบ๊ต ใช้เวลาเพียง 40 นาที ทว่าต้องตั้งใจไปหน่อย ที่พักจองตั้งแต่ต้นปี เพราะมีช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว 6 เดือนจริงๆ คือเดือนตุลาคมถึงมีนาคม

ห้องพักบนเกาะมีเพียง 600-700 คน/วัน รับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 1,000 คน/วัน มีรายได้ปีละ 60,000-70,000 คน

วันนี้เกาะหมากประกาศเป็น "เกาะโลว์คาร์บอน" อย่างเต็มภาคภูมิ สร้างอัตลักษณ์เติมเสน่ห์ให้เกาะหมาก

...ท้าทายให้นักท่องเที่ยวได้มาเยือนมากยิ่งขึ้น



เปิดโลกพลังงานทางเลือก...

ทำโลว์คาร์บอนแล้วได้อะไร


องค์การ บริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ.1) และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก ชมรมท่องเที่ยวเกาะหมากร่วมกันผนึกกำลังจัดงาน นิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ "เปิดโลกพลังงานทางเลือก" และเวทีเสวนา หัวข้อ "ทำ Low Carbon แล้ว ได้อะไร? และเกาะหมากจะเป็น Low Carbon ได้ในปีไหน?..." เมื่อ วันที่ 11-13 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด

ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากแนวคิดสู่ความเข้าใจ การรับรู้ของชุมชนท้องถิ่นบนเกาะหมากว่า ทำไม ต้อง Low Carbon? เมื่อปีที่แล้ว

งาน นี้ได้ยลโฉมตอบคำถามว่า ทำโลว์คาร์บอนแล้วได้อะไรเต็มไปหมด เริ่มจากชุดนิทรรศการการใช้พลังงานโซล่าเซลล์ในรูปของพลังงานไฟฟ้าต่างๆ ทั้งต่อตรงเป็นไฟทางใช้ได้เลย และเก็บอัดไว้ในแบตเตอรี่ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ แอร์ พัดลม ในโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ตลอดจนบ้านเรือน

พลังงานลม การคัดแยกขยะทำให้ขยะเป็นเงิน และขยะบนเกาะหมากเป็นศูนย์ การนำขยะมาใช้ประโยชน์ใหม่ กิจกรรมนักท่องเที่ยวที่ไม่สิ้นเปลืองน้ำมันด้วยเรือใบ จักรยาน

การ เรียนรู้ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตชาวบ้าน ผ่านชิ้นงานต่างๆ ที่เรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ เช่น ผ้าหมักโคลน เมนูอาหารท้องถิ่น แกงส้มปลาเห็ดโคน ยำหอยนมสาว แกงบุก แกงคูน อาหารแสนอร่อยของเกาะหมาก

แถม ท้ายด้วยนิทรรศการแผนที่พื้นที่เกาะหมาก แหล่งท่องเที่ยวจากภาพดาวเทียมไทยโชต อัพเดทสุดๆ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือกิสต์ดา (Gistda)

"ตอนนี้บนเกาะมากกว่า 50% มีความเข้าใจเรื่องโลว์คาร์บอน และมีการนำไปใช้ มีกลุ่มโซล่าเซลล์เกาะหมากช่วยให้ความรู้และสอนให้ทำ มีความร่วมมือจากบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นมากๆ ทั้งภาคเอกชน โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก กลุ่มโซล่าเซลล์เกาะหมาก สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราดและหน่วยงานของรัฐ อย่าง อบต. เกาะหมาก โรงเรียนบ้านเกาะหมาก ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน รวมทั้งกระแสตอบรับจากนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมกิจกรรมแรลลี่จักรยานเพิ่ม จากปีที่แล้ว 30 คัน มาปีนี้มากถึง 150 คัน" คุณธานินทร์ สุทธิธนกุล สมาชิกชมรมท่องเที่ยวเกาะหมากกล่าว



ชูโมเดลต้นแบบ

"เกาะหมากโลว์คาร์บอน" ปี 2556


ใน เวทีเสวนาเพื่อตอบคำถาม "ทำ Low Carbon" แล้วจะได้อะไร? และเกาะหมากจะเป็น Low Carbon ในปีไหน พล.ต.หญิง จรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการ สพพ.1 กล่าวว่า 2 ปีเต็ม ที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ. 1) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ร่วมกันพัฒนาเกาะหมากเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"ด้วย ข้อมูลของเกาะหมากมีค่าคาร์บอนฟรุตปริ้นต์สูงกว่าเกาะอื่นๆ เฉลี่ย 21.12 กิโลกรัมคาร์บอน/คน/วัน (เนื่องจากการเดินทางโดยเรือเร็ว) ในขณะที่เกาะช้าง 19.74 กิโลกรัมคาร์บอน/คน/วัน และประเทศไทย เฉลี่ย 11 กิโลกรัมคาร์บอน/คน/วัน ปี 2555 สพพ.1 เริ่มต้นด้วยการแสวงหาความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ชาวบ้าน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งสร้างความเข้าใจ การรับรู้แนวทางการเป็นพื้นที่โลว์คาร์บอน"

ทั้งนี้ ในการสร้างความเข้าใจ การรับรู้แนวทางการเป็นพื้นที่โลว์คาร์บอนได้เน้นใน 4 ประเด็น คือ 1. ด้านการใช้พลังงานอย่างประหยัด ใช้พลังงานทางเลือกโซล่าเซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง 2. ด้านการใช้น้ำอย่างประหยัดและนำกลับมาใช้ใหม่ 3. การคัดแยกขยะจากขยะ วันละ 200-300 ตัน เราคัดแยกขยะทำให้ขยะบนเกาะเป็นศูนย์ 4. การรักษาวิถีชีวิตชุมชน เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ทางด้าน คุณธานินทร์ สุทธิธนกุล สมาชิกชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก และ ผู้จัดการเกาะหมากซีฟู้ดกล่าวเพิ่มเติมว่า ร้านอาหารและพิพิธภัณฑ์เกาะหมากได้นำพลังงานโซล่าเซลล์มาใช้แบบ 100% เมนูอาหารท้องถิ่นไปได้ดี นักท่องเที่ยวยอมรับที่จะรับประทานปลา ไม่ต้องระบุชนิดหรือคัดเลือกขนาดอีกต่อไป ใช้ผักที่ปลูกเองหรือผักพื้นบ้าน ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายปลาและลดต้นทุนจากการใช้พลังงานโซล่า เซลล์ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปด้วยกัน

คุณ สุรินทร์ สุวรรณศิลป์ "โจ" และ คุณเพชร จันทรังษี "ชัย" แกนนำกลุ่มโซล่าเซลล์เกาะหมาก ได้นำพลังงานไฟฟ้าโซล่าเซลล์มาใช้ในสถานประกอบการและขยายผลสู่ชาวบ้าน จนชุมชนเห็นพ้องต้องกันว่า เกาะหมาก เหมาะสมที่สุดในการนำพลังงานโซล่าเซลล์มาใช้ทั้งในโรงแรม ร้านอาหาร ชุมชน ชาวประมงเห็นชัดๆ คือประหยัดค่าไฟฟ้าจำนวนมาก รีสอร์ทเฉพาะแค่ไฟทางบนสะพานนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญมากต้องเปิดตลอดคืน การเปลี่ยนมาใช้หลอด LED (แอลอีดี) คุ้มแล้วกับการประหยัดค่าใช้จ่าย เดือนละ 2,000 บาทเศษ

แต่ที่สำคัญ ประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมัน เพราะเงินไม่สามารถซื้อพลังงานฟอสซิลได้

"รีสอร์ท โคโค่เคป ลงทุน 20,000 บาท ในช่วง 2 ปี คุ้มทุนแล้วกับการเปลี่ยนมาใช้หลอด LED (แอลอีดี) 50 หลอด ชัดเจนการใช้โซล่าเซลล์เป็นไฟวอล์เวย์ฟรี กับเรือเร็วที่ต้องสตาร์ตอุ่นเครื่องทุกวัน 20 นาที กับน้ำมันเบนซิน กับกลุ่มโซล่าเซลล์ขยายผลให้เรือประมงใช้แผงโซล่าเซลล์เก็บไฟฟ้าในแบตเตอรี่ ขนาด 200 แอมป์ 2 ตัว ใช้ในเวลากลางคืน หรือใช้ต่อกับอินวอยเตอร์แปลงเป็นไฟ 220 โวลต์ ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าในเรือได้ด้วย"

"ส่วนการคัดแยกขยะ ขยะของรีสอร์ทส่วนที่ขายได้เป็นเงิน บางอย่างนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เราไม่มีขยะ โซล่าเซลล์แค่คิดเริ่มนำมาใช้งานก็คุ้มแล้ว และคุ้มจริงๆ" คุณชัย หัวหน้ากิจกรรมทางน้ำ รีสอร์ทโคโค่เคป เกาะหมาก กล่าวด้วยความภูมิใจในประสบการณ์

พล.ต.หญิง จรัสพิมพ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาครบ 2 ปีเต็ม เราสามารถตอบโจทย์ ทำไมต้องเป็นโลว์คาร์บอน ค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้น เป็นโลว์คาร์บอนแล้วได้ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง และที่สำคัญ สรุป ณ วันนี้ เกาะหมากเป็นโลว์คาร์บอนได้แล้วอย่างจับต้องได้ ตั้งแต่ ปี 2556

"จากความร่วมมือของคนในพื้นที่มีสูงมากเป็นสิ่ง สำคัญที่สุด ที่ทำให้ยั่งยืน มีผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ทที่ทำปฏิญญาร่วมกัน 18 แห่ง จาก 48 แห่ง การใช้โซล่าเซลล์ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนด้วยได้ 8,167.53 กิโลกรัมคาร์บอน มีกลุ่มโซล่าเซลล์เกาะหมาก 5-6 คน ช่วยขยายผลให้ชาวบ้าน ชาวประมง ได้เรียนรู้ มีการนำไปใช้ การคัดแยกขยะทำให้บนเกาะแทบไม่มีขยะจากการส่งขายแล้ว ศูนย์เอ็นเนอร์ยี่ปาร์ค (Energy Park) กำจัดขยะพลาสติกเป็นพลังงานน้ำมัน ใช้ขยะวันละ 3,000 ตัน"

"ผู้ประกอบการใช้เมนูท้องถิ่นประกอบอาหาร บริการนักท่องเที่ยว ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น กิจกรรมขี่จักรยานท่องเที่ยวรอบเกาะ กระแสของการลดโลกร้อน และเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมมาก รีสอร์ทต่างๆ เคยมีจักรยาน 40-50 คัน เพิ่มขึ้น 200-300 คัน นักท่องเที่ยวเองรับรู้ให้ความร่วมมือ การท่องเที่ยวพักผ่อนแบบโลว์คาร์บอนบนเกาะหมากด้วยคู่มือดูแอนด์ดอนท์ รวมทั้งร่วมกิจกรรมเก็บขยะชายหาด ทำเป็นปกติ เดือนละ 2 ครั้ง" ผู้จัดการ สพพ.1 กล่าว



หวั่นกระแสการลงทุน...ทำลาย

การท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนเกาะหมาก


ทาง ด้าน คุณจักรพรรดิ ตะเวทิกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ คุณสิทธิศักดิ์ วงษ์ศิริ นายก อบต. เกาะหมาก กล่าวว่า เกาะหมาก ยึดแนวทางการท่องเที่ยวธรรมชาติ เงียบสงบ ที่ผ่านมามีสัญญาประชาคมที่ไม่อนุญาตให้มีเครื่องเล่นทางน้ำที่มีเสียงดังบน เกาะ เช่น สกู๊ตเตอร์ บานาน่าโบ๊ต ต่อไปข้อบัญญัติของท้องถิ่น หรือสัญญาประชาคมน่ากำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในความเป็นเกาะโลว์คาร์บอน จำกัดปริมาณการนำรถจักรยานยนต์ รถยนต์ มาใช้บนเกาะ โดยการจัดเก็บภาษีหรือเพิ่มค่าขนส่งทางเรือ ในขณะเดียวกันจะส่งเสริมการใช้จักรยานบนเกาะให้มากที่สุด

"2 ปี ที่ผ่านมา อัตรารถจักรยานยนต์เพิ่มสูงอย่างน่าตกใจ 200-500 คัน รถยนต์ 30-40 คัน จำเป็นต้องหาทางควบคุม เพราะถนนกว้างเพียง 6 เมตร เป็นไหล่ทาง ข้างละ 1 เมตร ใช้เส้นทางเดียวกันหมดทั้งทางเดิน ที่สำคัญในปี 2558 ไฟฟ้าของส่วนภูมิภาคจะเข้ามาถึงเกาะหมาก จะทำให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น ถึงตอนนั้นนายทุนจากท้องถิ่นอื่นๆ จะแห่เข้ามาลงทุนกันมากขึ้น ต้องเร่งหาทางป้องกันการทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม" คุณสิทธิศักดิ์ กล่าว

ด้าน คุณเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวในตอนท้ายว่า นโยบายของจังหวัดตราดประกาศเป็น "Green City" แล้ว อพท. ช่วยทำให้เกิดรูปธรรมชัดเจน การก้าวสู่สังคมโลว์คาร์บอนจึงเป็นการสอดรับกับนโยบายของจังหวัดตราดได้ดี ภาคเอกชนก้าวเร็วกว่าภาครัฐ แม้ว่าจังหวัดมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4 ปี (2558-2561) โครงการชัดเจน ปี 2557-2558 โมเดลของเกาะหมาก และยังมีที่อื่นๆ อีก 4-5 แห่ง ในจังหวัดตราด ที่ สพพ. 1 เข้าไปสนับสนุนเป็นแหล่งเรียนรู้ น่าจะนำไปขยายในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดตราด และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยได้ดี เพราะไม่ใช่ความหมายโลว์คาร์บอนด้านการท่องเที่ยวอย่างเดียว และเห็นด้วยที่ท้องถิ่นต้องหาเกราะป้องกันตัวเอง หากมีไฟฟ้าเข้ามา กระแสการลงทุนบนเกาะหมากจะมากขึ้น


แบรนด์อิมเมจ "เกาะหมากโลว์คาร์บอน"...สู่สากล

เตรียมเปิดตัว งาน ITB เยอรมนี ต้นปี 2557


ขณะ ที่ พล.ต.หญิง จรัสพิมพ์ กล่าวอีกว่า ปี 2556 เกาะหมาก เป็นโลว์คาร์บอน ก้าวต่อไปจะสร้างแบรนด์อิมเมจด้านการท่องเที่ยวให้กับเกาะหมากโลว์คาร์ บอนอย่างชัดเจน ให้สังคมไทย-ต่างประเทศได้รับรู้ มีไกด์บุ๊กภาคภาษาไทย-อังกฤษ ให้กับนักท่องเที่ยวระดับโลก งาน ITB ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในเดือนมีนาคม ปี 2557

...เกาะหมาก โลว์คาร์บอนโมเดล คือต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน...เป็นหนึ่งในแบรนด์อิมเม จที่ภาคภูมิใจของท้องถิ่นและสังคมโลกที่น่าชื่นชม...



หมายเหตุ "โลว์คาร์บอน" คือการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน สู่ชั้นบรรยากาศของโลก อันเป็นผลต่อสภาวะโลกร้อน ภาวะเรือนกระจก ภาวะการแปรปรวนของธรรมชาติ อันเป็นที่มาของ ทำไม ต้องโลว์คาร์บอน


ที่มา: มติชน คอลัมน์เทคโนโลยีชาวบ้าน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น